HOME  
BIOGRAPHY  
MUSIC COMPOSITION  
ARTICLE  
GALLERY  
CONTACT  
LINK  
 
 
 
 

ชาวจุฬาฯร่วมถวายปฎิญญา แด่พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน  2551

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานแสดงดนตรี  เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่  6  พฤศจิกายนนี้
  
          การแสดงดนตรีคลาสสิกนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติร่วมจัดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ
          บทเพลงที่นำออกแสดงในรายการ “ประโคมเพลงประเลงถวาย” ประพันธ์โดย 7 นักประพันธ์เพลงไทย  เพลง  “แสงดาว” และ “ถวายปฏิญญา” โดย ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร “Lament” โดย อภิสิทธิ์  วงศ์โชติ “นิรันดร์” โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง “In Memoriam” โดย ศรสัน นิวาศานนท์ “ทูลลา” โดย ณัฐ ยนตรรักษ์ “Elegy for a Great Person โดย ณรงค์  ปรางค์เจริญ “Pie Jesu from Requiem pro Mate Musicae” โดย วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
          นรอรรถ จันทร์กล่ำ อดีตนักไวโอลินในวงออร์เคสตรา รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเพลงโดยนำเอาความรู้วิชาอำนวยเพลงที่เรียนกับ ริชาร์ด  ฮอร์นิช สมัยเรียนที่นิวอิงแลนด์คอนเซอร์เวทอรี ออฟมิวสิก  ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และเรียนเพิ่มเติมกับ  ผศ.พอ.ชูชาติ พิทักษากร ปูชนียบุคคล ทางดนตรีของจุฬาฯปัจจุบัน นรอรรถ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์  คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นผู้อำนวยเพลงประจำวงซิโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  วงเครื่องสายของจุฬาฯ  บางครั้งเป็นผู้อำนวยเพลงรับเชิญวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพและวงในต่างประเทศ
          เริ่มรายการด้วยเพลง “แสงดาว”(Starlight) เพลงที่มีความยาวประมาณ 5 นาที ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร  พยายามถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ทรงมีต่อชาวจุฬาฯ
          เสียงกลุ่มเครื่องสายสี “เทรมโมโล” แล้วสอดแทรกด้วยทำนองที่แผ่งไว้ด้วยความเศร้าเสมือนจะสื่อให้รับรู้อารมณ์แห่งความโทมนัสกับความสูญเสียอันใหญ่หลวง   ท่ามกลางบรรยากาศอันขมุกขมัวที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆหมอก ครั้นเมื่อเสียงค่อยๆ จางลง  ท่วงทำนองอันอ่อนหวาน  ลีลานุ่มนวลอ่อนช้อยสำเนียงไทยเข้ามาแทนที่  นั่นย่อมบ่งบอกถึงความโสมนัส แสงดาวที่ส่องประกายแวววับเจิดจ้าได้กลับมาสถิตอยู่ในความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง
          การบรรเลงผ่านไปจนถึงบทเพลงสุดท้าย “ถวายปฏิญญา” ประพันธ์โดยผู้ประพันธ์เพลงแรก รศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นับว่ายิ่งใหญ่กว่าผลงานทั้งหมดของณรงค์ฤทธิ์เท่าที่เคยฟังมา  ทุกช่วงทุกตอนมีความต่อเนื่องกลมกลืนอย่างมีเอกภาพ  ลงตัว มีเอกลักษณ์ชัดเจน คิดว่าน่าจะเป็นผลงาน “มาสเตอร์พีช” ของณรงค์ฤทธิ์ “ถวายปฏิญญา” บทเพลงที่มีความยาวเกือบ  20  นาที เค้าโครงของเพลงพอจะสรุปได้ดังนี้
          เริ่มบทนำด้วยแนวทำนองวลีสั้นๆเรียบง่าย สะดุดหู  ดนตรีแต่ละเครื่องบรรเลงทำนองซ้ำเรื่องตามลำดับจากนั้นระหว่างดนตรีบรรเลงคลอเบาๆ  นพ.ชิษณุ พันธ์เจริญ ขับทำนองเสนาะบทโคลงสี่สุภาพความว่า
          “สมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ  แม้นมิ่งมณีเลอเลิศฟ้า แสงเย็นส่องเสมอ เป็นศักดิ์เป็นศรีหล้าแหล่งด้าวแดนงาม”
          ต่อด้วยศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ อ่านบทกลอนแปดที่ต้องเข้ากับจังหวะจะโคนของ  วงออร์เคสตรา  โดยมีเสียงดนตรีคอยเสริมเสียงให้เข้ากับความหมายและอารมณ์ของบทกวี  ซึ่งมีความกลมกลืนแนบเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกัน  เป็นศิลปะการประพันธ์เพลงที่โดดเด่นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในบทเพลง    คลาสสิกร่วมสมัยในบ้านเรา บทกลอนช่วงนี้มีความว่า

          สมเด็จพระพี่นางกลางใจราษฎร์
มิ่งขวัญชาติแม้นมณีศรีสยาม
ยิ่งแสงเย็นเพ็ญจันทร์อันวาววาม
ไว้พระนามตรึงตราธาตรีไทย
เป็นดอกฟ้าสูงส่งทรงศรีศักดิ์
เปี่ยมด้วยรักปราณีที่ยิ่งใหญ่
กิ่งจึงโน้มโลมแผ่นดินทุกถิ่นไป
คลายทุกข์ได้ด้วยเทวีปรีชาชาญ

          เป็นประทีปส่องกมลพ้นมืดมิด
นำชีวิตก้าวย่างอย่างกล้าหาญ
เป็นฝนพร่ำฉ่ำหทัยให้ชื่นบาน
ด้าวดันดารกลับอุดมสมบูรณ์พลัน
เป็นธารใสไหลรุดไม่หยุดยั้ง
จนถึงยังเขตร้างกลางไพรสัณฑ์
เป็นศิขรสูงล้ำหลักสำคัญ
ช่วยค้ำยันนภาแผ่นคุ้มแดนทอง

          พระประสูติต่างแดนแสนไกลห่าง
มิเจือจางเลือดสยามงามผุดผ่อง
ทรงเปรื่องปราดศาสตร์ศิลป์ครบจบสมปอง
เป็นบุญของปวงประชาอนาคต
หลายสิบปีที่พระองค์ทรงจริยวัตร
ชนรู้ชัดทำเพื่อไทยได้ปรากฏ
โลกระบือลือพระนามงามพระยศ
ทราบทั่วทศทิศล้ำเกียรติกำจาย

          พระเมตตาแผ่ไปไร้ขอบเขต
พระองค์มอบความหวังคนทั้งหลาย
ทรงเป็นครูผู้ให้ทั้งใจกาย
ศิษย์แทนคุณงามด้วยความดี
บารมีพระองค์ทรงอุปถัมภ์
ศิลปกรรมของไทยไว้ศักดิ์ศรี
สมบัติชาติสืบต่อในธรณี
เยาวชนมีความภูมิใจไม่ลืมเลือน

หลังจากนั้นกลุ่มนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ สร้างความยิ่งใหญ่ สง่า ความว่า

          ศิลปินใหญ่น้อยร้อยดวงจิต
ร้อยลิขิตร้อยอาลัยไม่มีเหมือน
ดังตะวันพลันดับลับดาวเดือน
ทรงลอยเลื่อนสู่สถานวิมานฟ้า
คุกเข่าลงผจงไหว้ไร้เทียนจุด
สิบนิ้วดุจธูปหอมย้อมนาสา
ดอกไม้จันทน์นั้นหรือคือน้ำตา
ถือมาลาทุกพวงแทนดวงใจ

ใจรัตน์ พิทักษ์เจริญ ร้องเดี่ยวความซ้ำกับนักร้องเสียงประสาน   แล้วร้องพร้อมกันความว่า

          ขอประเลงเพลงประโลมประโคมส่ง
เสด็จองค์ยอดหญิงผู้ยิ่งใหญ่
ถึงคราคืนสู่สวรรค์อันแววไว
วางพระทัยจากแผ่นดินถิ่นทรงรัก
ขอถวายปฏิญญาของข้าบาท
จะสืบศาสตร์ศิลปะสมานสมัคร

(นักร้องร้องพร้อมกับวงประสานเสียงในวรรคสุดท้าย)

         สานต่อพระปณิธานที่นานนัก
เกียรติศักดิ์สยามอยู่คู่นิรันดร์
สุดท้ายขับโคลงสี่สุภาพ
กัลป์ยาณินาถเจ้า                     จอมอนงค์
วัฒนาเทิดวงศ์                         จักรไว้
นราธิวาสธำรง                         ไทยรุ่ง เรืองนา
ราชนครินทร์ได้                      เสด็จฟ้าคืนสรวง

          บทเพลง “ถวายปฎิญญา” นำออกแสดงทางโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส วันที่ 8 ที่หอประชุมจุฬาฯ วันที่ 11 และที่สำคัญในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา   กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  วันเสาร์ที่ 15 เดือนนี้ ณ เวทีกลางแจ้งมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเพิ่มกระจ่างเกี่ยวกับบทเพลง “ถวายปฏิญญา” จึงแวะไปถามไถ่รายละเอียดเพิ่มจาก      อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์   ธรรมบุตร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          บทเพลง “ถวายปฎิญญา” นอกจากได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีของก้องภพ  รื่นศิริแล้ว มีนัยอย่างอื่นหรือไม่
                จริงๆ ผมมีความตั้งใจที่อยากจะเขียนเพลงถวายท่านอยู่แล้ว   พอดีมีเหตุการณ์ประจวบเหมาะอยู่หลายอย่าง  คือทางจุฬาฯอยากจะจัดคอนเสิร์ตที่มีบทเพลงพิเศษนี้ด้วยเพราะว่าทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงซิมโฟนีมีความผูกพันกับสมเด็จพระพี่นางฯ เยอะเลย นอกจากท่านจะเป็นองค์อุปถัมภ์ของวงซิมโฟนีแล้ว ท่านเสด็จมาฟังคอนเสิร์ต  ในช่วง 10 ปีที่เราจัดคอนเสิร์ตกันประมาณปีละ 2 ครั้ง  ท่านเสด็จมาเกือบทุกครั้ง  พร้อมกับมี “comment” (ข้อแนะนำ) ตอนนั้นผมแต่ง “ระนาดคอนแชร์โต” เมื่อท่านฟังเสร็จ ท่านก็ซักเลย  ประโยคที่ท่านถามคือ “เทียบเสียงยังไง” เราก็ทูลว่า ต้องมีการถ่วงตะกั่วเพื่อปรับเสียงให้เข้ากับเครื่องดนตรีสากลแล้วท่านถามต่อไปว่า “มีปัญหาที่คนเล่นไหมอ่านโน้ตออกหรือเปล่า เล่นกันยังไง”  ท่านสนพระทัยมาก  เราก็เลยรู้ว่าท่านเป็นผู้สนใจดนตรีคลาสสิกจริงจังฉะนั้นเราก็มีความผูกพันกับท่าน จึงคิดจะแต่งเพลงพิเศษ เพื่อถวายประกอบกับเหตุการณ์ลงตัวหลายอย่างคือทางสถานีวิทยุจุฬาอยากเอาเพลงนี้มาเป็นพิเศษด้วย ก็เลยคิดว่าเป็นที่มาของเพลงนี้
          ประกอบกับอาจารย์ณัชชาเป็นผู้เอาบทกวีของคุณก้องภพมาให้ผม พอผมเห็นปั๊ป รู้สึกเขาเขียนได้เพราะนะฮะ  คือโน้ตมันไหลมาเองเริ่มวางแผนว่าจะต้องแต่งอย่างงี้ จะมี “อินโทร” (Intro)  ออร์เคสตรา (orchestra) อย่างงี้ๆแล้วค่อยๆ build เวลาผมนั่งผมก็เห็นธรรมชาติเลย ไหลออกมาจากสิ่งที่ได้ยิน  เหมือนกับเราเป็นแค่คนเขียนโน้ตจากที่สมองได้ยิน  จากหูได้ยิน

             คุณก้องภพเป็นใคร
             เป็นวิศวกรอยู่ที่  กฟผ. บางกรวยคุณก้องภพเขียนบทกวีมาเยอะเหมือนกันกวีบทนี้ได้รับรางวัลดีเด่นสาขากวีนิพนธ์จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว

          ในบทเพลงที่อาจารย์เขียนเป็นท่อนๆ บางช่วง  เช่น  ก่อนที่จะเข้าไปอ่านทำนองเสนาะ อาจารย์มีแนวคิดอย่างไรทีเริ่มต้นใน “มูฟเมนต์” แรก
               ตอนแรกผมนำโคลง 2 บท แล้วก็มา set ให้มันเป็น song เสียก่อน จากทำนองสำคัญที่อยู่ใน song ทั้งหมด ก็ไปกระจายออกให้กลายเป็น Symphonic work  ความยาว 18 นาที เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นทำนองมันก็ดัดแปลงคือหมายความเป็นการ transformation ของตัวทำนองจากเพลงออกมาในรูปแบบต่างๆ เพราะฉะนั้นอินโทรตอนขึ้นต้นก็สัมพันธ์กับ song ตอนไหนที่เป็นออร์เคสตราทั้งหลายผมก็ดึงออกมาเหมือนเดิม จะพยายามทำให้ตัวsongกับเพลงทั้งหมด มีความเกี่ยวข้องกันวางแผนไว้เยอะ  อยากที่จะสร้างไคลแมกซ์ยังไง คือไคลแมกซ์ จะไปอยู่ตรงกลางของเพลงตอนขึ้นค่อนข้างสงบ แล้วเพลงจะค่อยๆbuildขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนปลายจะดังมาก  โดยเฉพาะเนื้อร้องตรงคำว่า “ถวายปฏิญญา”

                นี่คือที่มาส่วนหนึ่งของ “ถวายปฏิญญา” บทเพลงคลาสสิกร่วมสมัยของ  ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร